เครื่องตี
เป็นประเภทที่เก่าแก่ที่สุดที่มนุษย์รู้จักใช้และเครื่องดนตรีของไทยก็เช่น เดียวกัน โดยทั่วไปเครืองตีเป็นเครื่องเก่าแก่ของไทย แต่ก้ได้แก้ไขปรับปรุงให้วิวัฒนาการมาโดยลำดับเครื่องตีที่ใช้ในวงดนตรีไทย แบ่งออกเป็น 3 จำพวก คือ
เครื่องตีทำด้วยไม้
เครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องตีที่ทำด้วยไม้นั้นมีอยู่ด้วยกัน 7 ชิ้น ดังนี้
ระนาดเอก
ระนาดเอก เป็นเครื่องดนตรีที่ทำด้วยไม้ ประเภทดำเนินทำนอง มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งบอกว่าเกิดขึ้นเมื่อสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา บรรเลงผสมในวงปี่พาทย์เครื่องห้า เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ตามลำดับ มีหน้าที่เป็นผู้นำวง ตีเก็บ ตีกรอเป็นพื้นฐาน ตีรัวในแบบต่างๆในบางโอกาส เดิมเรียกว่า " ระนาด " ต่อเมื่อภายหลังมีระนาดทุ้มเกิดขึ้น จึงเรียกระนาดชนิดนี้ว่า " ระนาดเอก "
ระนาดทุ้ม
ระนาดทุ้ม เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นมาในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการสร้างเลียนแบบระนาดเอก ใช้ไม้ชนิดเดียว กันกับระนาดเอก ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน 17 หรือ 18 ลูก ลูกต้นยาวประมาณ 42 ซม กว้าง 6 ซม และลดหลั่นลงมาจนถึงลูกยอด ที่มีขนาดยาว 34 ซม กว้าง 5 ซม รางระนาดทุ้มนั้นประดิษฐ์ให้มีรูปร่างคล้ายหีบไม้ แต่เว้าตรงกลางให้โค้ง โขนปิดหัวท้ายเพื่อ เป็นที่แขวนผืนระนาดนั้น ถ้าหากวัดจากโขนด้านหนึ่งไปยังโขนอีกด้านหนึ่ง รางระนาดทุ้มจะมีขนาดยาวประมาณ 124 ซม ปาก รางกว้างประมาณ 22 ซม มีเท้าเตี้ย รองไว้ 4 มุมราง หน้าที่ในวงของระนาดทุ้มนั้น ทำหน้าที่เดินทำนองรอง ในทางของตนเองซึ่งจะมีจังหวะโยน ล้อ ขัด ที่ทำให้เกิดความไพเราะและเติมเต็มช่องว่างของเสียง อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของระนาดทุ้ม
เกราะ
เป็นเครื่องตีที่ทำด้วยไม้ไผ่ เดิมเป็นเครื่องตีสำหรับขานยาม ไม่ปรากฏว่านำมาใช้ร่วมในวงการดนตรี แต่ในการเล่นโขนละครตอนพักทัพที่อยู่เวรยาม และตอนที่หัวหน้าหมู่บ้านใช้ตีเป็นอาณัติสัญญาบอกเหตุอันตราย หรือตีเพื่อนัดหมายชุมนุมลูกบ้าน
โกร่ง
เป็นเครื่องตีกำกับจังหวะที่ทำด้วยไม้ไผ่ เช่นเดียวกับเกราะ แต่ยาวกว่า ตั้งอยู่บนขา 2 ขา เคยเห็นใช้ตีตามชนบท ในฤดูการงานสงกราณต์ เด็กๆและหนุ่มสาวใช้ตีประกอบการร้องที่เรียกว่า " ร่ำ " คือการตีควบไปกับการร้องในการเชิญทรงเจ้าเข้าผี และรำแม่ศรี เป็นต้น ที่ใช้ในวงการดนตรีก็คือ การตีร่วมกับการแสดงหนังใหญ่ และโขนละคร โดยเฉพาะในการบรรเลงเพลงกราวตรวจพล แต่ในการแสดงโขน ของกรมศิลปากร จะใช้โกร่งร่วมตีในวงปี่พาทย์ในการแสดงโขนกลางแจ้ง ถ้าเป็นการแสดงภายในจะไม่ใช้เพราะเสียงดังเกินไป
กรับคู่
ทำด้วยไม้ไผ่ซีก 2 อันเหลาให้เรียบและเกลี้ยง หนาตามขนาดของเนื้อไม้ หัวและท้ายกว่าใหญ่ลดหลั่นกันเล็กน้อย ตีด้วยมือทั้งสองข้าง โดยจับข้างละอัน ให้ด้านที่เป็นผิวไม้กระทบกัน ตีลงบริเวณใกล้กับตอนหัว มีเสียงดัง กรับ กรับ โดยมากจะใช้ตีกำกับจังหวะในวง ปี่พาทย์ชาตรี ประกอบการแสดงละครชาตรี โดยเฉพาะ ในเพลงร่ายต่างๆ ในวงกลางยาวก็นิยมใช้กรับคู่ไปตีกำกับจังหวะหนัก ที่เรียกว่ากรับคู่คงเป็นเพราะมีเป็นคู่ 2 อัน บางทีก็เรียกว่า " กรับไม้ "
กลับพวง
เป็นเครื่องตีกำกับจังหวะที่ทำด้วยไม้ ผสมโลหะ ร้อยเชือกติดกันเป็นพวง ทั้งไม้และโลหะทำเป็นแผ่นบางๆสลับกัน โดยชิ้นนอกสุด 2 ชิ้น จะเหลาหนา หัว และท้ายงอนโค้งงอน ด้านจับเล็ก ตอนปลายใหญ่ ร้อย เชือกทางด้านปลาย ให้หลวมพอประมาณ เวลาตีมือหนึ่งจะจับกัมตอนปลาย ให้หัวตีลงบนมืออีกข้างหนึ่ง ซึ่งจะมีเสียงไม้กับโลหะกระทบกัน เดิมใช้ตีเป็นอาณัติสัญญาณ เช่นในการเสด็จออกท้องพระโรงของพระเจ้าแผ่นดิน ที่เรียกว่า " รัวกรับ " โดยเฉพาะในเรือสุพรรณหงส์ พระราชพิธีทอดผ้าพระกฐินทางชลมารค เจ้าพนักงานจะรัวกรับ เพื่อบอกฝีผายทำความเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และออกเรือ
กรับเสภา
เป็นเครื่องตีกำกับจังหวะอีกชนิดหนึ่ง ที่ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง โดยเฉพาะไม้ชิงชัน เหลาให้เป็นสี่เหลี่ยม ด้านบนลบเหลี่ยมเล็กน้อย เพื่อไม่ให้บาดมือและสามารถกลิ้งตัวของมันเอง กลอกกระทบกันได้สะดวก ด้านล่างนูนโค้งเล็กน้อย เดิมใช้ขยับตีในการขับเสภา ดังที่เรียกว่า " ขยับกรับขับเสภา " ซึ่งผู้ขับ เสภาจะเป็นผู้ขยับเอง โดยใช้กรับ 2 คู่ ขยับคู่ละมือ ขับเสภาไปพลาง ขยับกรับสอดแทรกไปกับทำนองขับ ซึ่งมีวิธีการขยับกรับได้หลายวิธี อันถือเป็นศิลปชั้นสูงอย่างหนึ่งในการขยับกรับขับเสภา ซึ่งนิยมเล่นกันมากในสมัยโบราณ
เครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ
เครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะนั้นมีอยู่ด้วยกัน 5 ชิ้น ดังนี้
ฆ้อง
ฆ้อง เป็นเครื่องดนตรีประเภทเพอร์คัชชันทำด้วยโลหะที่มีหลายรูปแบบ คำว่าฆ้องนั้นมีที่ว่าจากภาษาชวา ปรากฏการใช้ฆ้องในหลายชาติในทวีปเอเชีย เช่น จีน อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย เป็นต้น ปัจจุบันฆ้องเข้าไปมีส่วนในดนตรีตะวันตกด้วยเช่นกัน ฆ้องมีอยู่ 6 ชนิด ดังนี้
ฆ้องวงใหญ่
เป็นเครื่องดนตรีที่วิวัฒนาการมาจากฆ้องรางของอินโดนีเซีย สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ส่วนประกอบของฆ้องวงใหญ่ประกอบด้วยลูกฆ้องและวงฆ้อง ลูกฆ้องมี 16 ลูกทำจากทองเหลือง เรียงจากลูกเล็กด้านขวา วงฆ้องสูงประมาณ 24 เซนติเมตร ใช้หวายโป่งทำเป็นราง ให้หวายเส้นนอกกับเส้นในห่างกัน 14-17 เซนติเมตร ใช้หวาย 4 อัน ด้านล่าง 2 อันขดเป็นวงขนานกัน เว้นที่ไว้ให้นักดนตรีเข้าไปบรรเลง ฆ้องวงใหญ่เป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุด เพราะคนที่จะเล่นดนตรีในวงปี่พาทย์ต้องมาเรียนฆ้องวงใหญ่ก่อน ฆ้องวงใหญ่ทำหน้าที่เดินทำนองหลัก ซึ่งถือเป็นแม่บทของเพลง ฆ้องวงใหญ่ใช้เล่นในวงปี่พาทย์ วงปี่พาทย์นางหงส์ และวงมโหรี
ฆ้องวงเล็ก
ฆ้องวงเล็กเป็นเครื่องดนตรีไทยสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 มีลักษณะเหมือนกับฆ้องวงใหญ่ แต่ลูกฆ้องมีขนาดเล็กกว่า มีลูกฆ้อง 18 ลูก บรรเลงทำนองคล้ายระนาดเอก แต่ตีเก็บถี่กว่าระนาดเอก
ฆ้องวงเล็กใช้วงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงปี่พาทย์ไม้นวม วงปี่พาทย์นางหงส์ และวงมโหรี
ฆ้องมอญ
ฆ้องมอญเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับอิทธิพลมาจากมอญมี ลักษณะตั้งโค้งขึ้นไป ไม่ตั้งราบกับพื้นแบบฆ้องไทย วงฆ้องทำจากไม้แกะสลักปิดทองอย่างสวยงาม ทางโค้งด้านซ้ายของผู้ตีแกะเป็นรูปต่างๆตามต้องการ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมรูปเทวดา ทางโค้งด้านขวาทำเป็นรูปปลายหาง มีเท้ารองตรงกลางเหมือนระนาดเอก ฆ้องมอญมีลูกฆ้อง 15 ลูก แต่ฆ้องมอญจะไม่เรียงเสียงเหมือนฆ้องไทย ในบางช่วงมีการข้ามเสียง เรียกเสียงที่ข้ามว่า"หลุม" ฆ้องมอญทำหน้าที่เดินทำนองเพลงเช่นเดียวกับฆ้องวงใหญ่ของไทย ฆ้องมอญมี 2 ขนาดเหมือนกับฆ้องไทยคือ ฆ้องมอญใหญ่และฆ้องมอญเล็ก ฆ้องมอญใช้เล่นในวงปี่พาทย์มอญ
ฆ้องโหม่ง
มีเชือกร้อยรูทั้ง ๒ ที่ใบฉัตร แขวนห้อยทางตั้งกับขาหยั่งหรือคานไม้ ตรงหัวไม้ที่ใช้ตีพันด้วยผ้ากับเชือกให้เป็นปุ่มโตอ่อนนุ่ม เวลาตีจะมีเสียงดังโหม่ง ๆ ใช้ตีกำกับจังหวะในวงปี่พาทย์ วงเครื่องสาย หรือวงมโหรี, สมัยโบราณใช้ตีในเวลากลางวันเป็นสัญญาณบอก 'โมง' คู่กับกลองที่ตีเป็นสัญญาณในเวลากลางคืนบอก 'ทุ่ม'.
ฆ้องคู่
ใช้กำกับจังหวะ โยชุดหนึ่งจะมีสองลูก ลูกใหญ่ให้เสียงต่ำ ลูกเล็กให้เสียงสูง ไม้ตีทำด้วย แผ่นหนังวัว หรือหนังควายตัดเป็นวงกลม เจาะรูตรงกลางไ่ก้านไม้
ฆ้องราว
ฆ้อง ๓ ใบ มีขนาดลดหลั่นกัน ใช้แขวนราวเรียงไปตามขนาด เมื่อตีเรียงไปตามลำดับลูกแล้วย้อนกลับจะได้ยินเป็นเสียง "โหม่ง-โมง-โม้ง,โม้ง-โมง-โหม่ง" แต่แรกจะคิดสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการใดหาทราบไม่ แต่ตามที่ปรากฎต่อมาใช้บรรเลงในการเล่นมหรสพโบราณชนิดหนึ่งเรียกว่า "ระเบง" หรือเรียกตามคำร้องของกลอนซึ่งขึ้นต้นวรรคด้วยคำว่า "โอละพ่อ" เลยเรียกฆ้องราว ๓ ใบ ชนิดนี้ว่า "ฆ้องระเบง" ติดมาแม้การเล่น "ระเบง" หรือ "โอละพ่อ" ในงานพระราชพิธีจะได้ว่างเว้นมาเป็นเวลานาน จนอนุชนรุ่นนี้ไม่ค่อยรู้จักกันอยู่แล้วแต่ในวงการดนตรีไทยยังรู้จัก "ฆ้องระเบง"ดีอยู่
ฉิ่ง
ฉิ่งเป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทตี ทำด้วยทองเหลือง หล่อหนา ปากผายกลม 1 ชุด มี 2 ฝา ฉิ่งมี 2 ชนิดคือ ฉิ่งสำหรับวงปี่พาทย์ และ ฉิ่งที่ใช้สำหรับวงเครื่องสายและวงมโหรี เนื่องจากการตีฉิ่ง ต้องเอาขอบของฝาข้างหนึ่งกระทบกับอีกฝากหนึ่ง แล้วยกขึ้น ก็จะมีเสียงดังกังวานยาวดัง
ฉิ่ง แต่ถ้าเอาทั้ง 2 ฝานั้นกระทบและประกบกันไว้ จะได้ยินเสียงดังสั้นๆดัง
ฉับ ดังนั้นการเรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า ฉิ่ง ก็เพราะเรียกตามเสียงที่เกิดขึ้นนั่นเอง
ฉาบ
ฉาบเป็นเครื่องดนตรีประเภทตี ทำด้วยโลหะคล้าย
ฉิ่ง แต่หล่อให้บางกว่า ฉาบมี 2 ชนิดคือฉาบเล็ก และ ฉาบใหญ่ ฉาบเล็กมีขนาด ที่วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 –14 ซม ส่วนฉาบใหญ่มีขนาดที่วัดผ่าน ศูนย์กลางประมาณ 24 –26 ซม เวลาบรรเลงใช้ 2 ฝามาตีกระทบกันให้เกิดเสียงตามจังหวะ เมื่อฉาบทั้งสองข้างกระทบกันขณะตีประกบกันก็ จะเกิดเสียง ฉาบ แต่ถ้าตีแล้วเปิดเสียงก็จะได้ยินเป็น แฉ่ง แฉ่ง แฉ่ง เป็นต้น